Local Experience มรดกทางวัฒนธรรม เรียนรู้ เล่นเพลิน สัมผัส ศรีสัชนาลัยกับโกลบอล ฮอลิเดย์ วันนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับชาวไทครั่ง ชุมชนหนองอ้อ จ.สุโขทัย  

จากการลงพื้นที่วิจัยพบว่า กลุ่มชุมชนไทครั่ง ปัจจุบันได้สืบเชื้อสายมาเป็นรุ่นที่ 3-4 แล้ว อีกทั้งหลายหมู่บ้านได้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพื่อหาที่ทำกินใหม่หรือโยกย้ายเมื่อมีประชากรมากขึ้น 
จึงอาจเป็นการยากที่จะย้อนกลับไปหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าบรรพบุรุษของแต่ละหมู่บ้านได้อพยพมาจากที่ไหนเมื่อไร 
เอกสารโบราณในชุมชนที่หลงเหลือ มีเพียงตำรายา ตำรากฎหมาย เท่านั้นและมีการศึกษาข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พอจะสรุปได้ว่ากลุ่มไท-ครั่ง มีการเรียกขานกลุ่มตัวเองเป็น "ลาว” คำว่า "ลาว” นั้นคงเป็นการเรียกขานที่แสดงถึงการแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมออกจากชาวสยาม ชาวจีน ชาวมอญ 
และคงด้วยชาวไทยกลุ่มนี้ได้อพยพมาจากดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรลาว 
โดยมีคำเรียกขานที่แตกต่างกันออกไปเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ 
1.ลาวครั่ง 
2.ลาวเวียง 
3.ลาวกา 
4.ลาวซี 

เฉพาะคำว่า "ลาวครั่ง” มีการตั้งข้อสันนิษฐานกันไว้ 2 ประการคือ 
1.สันนิษฐานว่าเป็นการเรียกตามชื่อถิ่นฐานเดิมที่อยู่ในเขตเทือกเขาภูคัง จึงเรียกว่า "ลาวคัง ลาวคั่ง หรือ ลาวครั่ง” 
โดยคาดกันว่าคำว่า "คัง” มาจาก "ภูคัง” และต่อมาคำว่า "คัง” ก็เพี้ยนมาเป็น "คั่ง” หรือ "ครั่ง” ในที่สุด
2.สันนิษฐานว่าในสมัยที่พลัดถิ่นมาสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 
ต้องประสพกับสภาวะขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งเครื่องมือหากิน จึงต้องเลี้ยงครั่งสำหรับย้อมผ้า เพราะไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไร จึงทำให้ถูกเรียกว่า "ลาวขี้ครั่ง” หรือ "ลาวครั่ง”

เมื่อมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน มนุษย์ย่อมนำเอาวัฒนธรรมประจำถิ่นติดตัวมาด้วย และที่ชุมชนหนองอ้อ ซึ่งมีชาวไทครั่งอาศัยอยู่มานานได้มีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพชนและความสามัคคีกันในชุมชน 
ทุกๆปี จึงมีการจัดงานเทศกาล “มัดไหมทานตะเวน สีสันแห่งศรัทธาชาวไทครั่งศรีสัชนาลัย” ดอกทานตะเวนงานทำมือของชาวไทครั่งบ้านเกาะน้อย ศรีสัชนาลัย ใช้สำหรับประดับตกแต่งในประเพณีแห่ธงทุกเดือนเมษายน ปีนี้ติดโควิด-19 ทำให้เลื่อนจัดงานมาในช่วงเดือนสิงหาคม 2563

โดยการใช้ด้ายหรือไหมพรมหลากสีสันเพื่อนำมาเป็นวัสดุที่ใช้ในการทำดอกทานตะเวนนอกจากนั้น ดอกทานตะเวนยังเป็นเครื่องประดับในประเพณีแห่ธงของชาวไทครั่งบ้านเกาะน้อยที่จัดขึ้นช่วงเดือนเมษายนของทุกปี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในกลุ่มที่เป็นเครือข่ายต่างๆให้มีการพัฒนาต่อยอดเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ดอกทานตะเวนได้ถูกพัฒนามาเป็นของตกแต่งบ้านเสริมความเป็นสิริมงคลด้านอำนาจ ความมั่งคั่ง และสุขภาพ 
แตกต่างกันไปในแต่ละสี ประกอบด้วยสีที่สดใส แดง เขียว เหลือง ขาว ดำ
มีความหมาย ดังนี้ 

  • สีแดง หมายถึง ความมั่นคง  มั่งคั่ง มั่งมี 
  • สีขาว หมายถึง อยู่เย็นเป็นสุข ร่มเย็น สงบ ขาวสะอาด 
  • สีดำ หมายถึง ความเข้มแข็ง อดทน 
  • สีเขียว หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง 
  • สีเหลือง หมายถึง สีแห่งความรุ่งเรือง


Top